ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา (Sociological Jurisprudence)
ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาเป็นแนวคิดหรือทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่เน้นบทบาทความสัมพันธ์ของกฎหมายต่อสังคม โดยพิจารณาถึงเรื่องบทบาทหน้าที่ (Functional) หรือการทำงานของกฎหมายมากกว่าการสนใจกฎหมายในแง่ที่เป็นเนื้อหาสาระ ซึ่งเป็นนามธรรมลอย ๆ (Look move for the working of law than for its abstract) โดยเน้นไปที่การตรากฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมต่างๆ (Social legislation)
ทฤษฎีนี้เป็นแนวคิดทางปรัชญาที่ค่อนข้างใหม่พอสมควร ผู้นำสำนักคิดนี้พยายามที่จะเชิดชูความคิดว่าทฤษฎีนี้เป็นกระบวนการทางปรัชญากฎหมายที่เน้นแนวคิดเชิงปฏิบัตินิยม หมายความว่า ต้องอยู่บนพื้นฐานแบบปฏิบัตินิยมในด้านฝ่ายนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา เห็นว่าจุดมุ่งหมายในการศึกษาเรื่องธรรมชาติของกฎหมายควรจะมองปัญหาเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องการทำหน้าที่ของกฎหมาย หรือบทบาทของกฎหมายในสังคมว่า ธรรมชาติของกฎหมายที่สำคัญอันหนึ่ง คือ กฎหมายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในสังคมที่บทบาทในการแก้ไขปัญหาเรื่องความขัดแย้ง ปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรม แนวคิดทฤษฎีนี้มีส่วนใกล้เคียงกับแนวคิดทฤษฎีมาร์กซิสต์ เช่น ในประเด็นเรื่อง กฎหมายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการควบคุมสังคม แต่จะมีความแตกต่างในประเด็นที่มาร์กซิสต์กล่าวถึงกฎหมายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของสังคมแต่เป็น เครื่องมือที่ออกกฎหมายมาเพื่อชนชั้นสูงที่มีอำนาจออกกฎหมาย ส่วนนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยากฎหมายเป็นเครื่องมือของสังคมออกกฎหมายมาเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม เป็นต้น
แนวคิดนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาเริ่มปรากฏตัวตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 – 20 ซึ่งการก่อตัวของขบวนการนี้ (อันเนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution)ได้นำไปสู่การก่อตัวขึ้นของชนชั้นแรงงาน ยังเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดสังคมนิยมแบบวิทยาศาสตร์หรือลัทธิมาร์กซ (Marxism)) จะสัมพันธ์กับสิ่งที่เป็นสภาพของสังคมวิทยา เช่นเมื่อสังคมมีการพัฒนามาเป็นสังคมอุตสาหกรรม หรือสังคมทุนนิยมก็จะมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งต่างๆมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความขัดแย้งช่องว่างระหว่างความยากจนกับคนรวยมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่เนืองๆ หรืออาจจะมีกระแสความคิดความพยายามที่ผลักดันให้มีการปฏิบัติเพื่อแก้ไขความไม่เป็นธรรมในสังคม ต่างๆ
การเน้นบทบาทเหล่านี้ อาจจะมองคล้ายกับการต่อสู้ทางความคิดเพราะมีกระแสวิจารณ์จากฝ่ายซ้าย ซึ่งมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆโดยได้วิพากษ์วิจารณ์ว่าสิ่งที่เป็นปรัชญากฎหมายของโลกทุนนิยมเป็นเพียงปรัชญากฎหมายของชนชั้นนายทุนหรือปรัชญากฎหมายของชนชั้นที่มีอำนาจเท่านั้น
ดังนั้น กฎหมายจึงเป็นเพียงเครื่องมือในการรักษาผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจหรือชนชั้นนายทุนหรือชนชั้นเจ้า สมบัติในสังคมเท่านั้น ทำให้บรรดานักนิติศาสตร์พยายามเสนอแนวคิดที่จะรณรงค์ความคิดที่มองกฎหมายในเชิงเครื่องมือเพื่อการแก้ไขปัญหาสังคมและเพื่อใช้กฎหมายในการระงับความไม่เป็นธรรมทั้งในด้านทฤษฎีและรายละเอียดใน เชิงวิชาการ
1.รากฐานการก่อตัวของนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา
ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา นี้จัดเป็นกระแสการก่อตั้งในตะวันตก จากนั้นมีการแพร่หลายกันในหลาย ๆ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมัน เป็นต้น
ในเยอรมันมีนักนิติศาสตร์คนสำคัญ คือ รูดอร์ฟ ฟอน เยียริ่ง (Rudolf Von Jhering) เป็นบุคคลสำคัญที่ทำการเผยแพร่หรือาจกล่าวได้ว่า เป็นผู้ให้กำเนิดทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา
ในฝรั่งเศสมี ลีออง ดิวกิต (leon Duguit) เป็นผู้นำคนสำคัญโดยเฉพาะในการสร้างชื่อ ทฤษฎีความสมานฉันท์ของสังคม (Social Solidarism)
ในอเมริกา รอสโค พาวด์ (Roscoe Pound) ภาพรวมทางความคิดของทฤษฎีนี้จะเป็นกระแสที่พยายามเน้นเรื่องบทบาทกฎหมายในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคม โดยที่สามารถจะเห็นสภาพความคิดนี้ชัดเจนในงานเขียนของ เยียริ่ง เรื่อง“กฎหมายในฐานะเป็นเครื่องมือเพื่อการเป้าหมาย”
(Law as a Means to an End) ซึ่งสร้างแนวคิดทฤษฎีวิศวกรรมสังคม (Social Engineering) ขึ้นมา
แนวคิดทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มที่มีแนวคิดโอนเอียงใกล้ชิดความคิดแบบสังคมนิยมมี ลีออง ดิวกิต เป็นตัวแทนความคิด
2. กลุ่มที่มีแนวคิดโอนเอียงมาทางอนุรักษ์นิยม กลุ่มนี้มี รูดอร์ฟ ฟอน เยียริ่ง และรอสโค พาวด์ เป็นตัวแทนแนวคิด
1.1 กลุ่มที่มีแนวคิดโอนเอียงใกล้ชิดความคิดแบบสังคมนิยม
ลีออง ดิวกิต (Leon Duguit 1859 -1928) เป็นนักนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาสำคัญของฝรั่งเศส เจ้าของทฤษฎีว่าด้วยความสมานฉันท์ของสังคม (Social Solidarism) ซึ่งโดยภาพรวมแล้วจะเป็นแนวคิดในทำนองที่พยายามเน้นบทบาทของกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม แต่ทฤษฎีของ ดิวกิต นั้นอุดมการณ์เบื้องหลังความคิดค่อนข้างจะเป็นสังคมนิยมมาก เมื่อเปรียบเทียบกับทฤษฎีของ เยียริ่ง เพราะทฤษฎีของ เยียริ่ง จะมีอุดมการณ์แบบเสรีนิยมแอบแฝงอยู่
หลักความสมานฉันท์ของสังคม หลักความสมานฉันท์ในสังคม ถูกมองว่าเป็นเสมือนหลักนิติธรรมหรือเสมือนหลักในการบัญญัติกฎหมาย กล่าวคือ การเขียนกฎหมายหรือการใช้กฎหมายจะต้องตั้งอยู่บนความสำนึกเน้นประโยชน์ของการร่วมกัน หรือมีการแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มิใช่จะใช้กฎหมายหรือบัญญัติกฎหมายเพิ่มประโยชน์ต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
หลักความสมานฉันท์ของสังคม มีการเน้นความสำคัญของรัฐและความรับผิดของรัฐ รัฐจำเป็นต้องจัดสวัสดิการให้กับสังคมและยกเลิกความแตกต่างระหว่าง กฎหมายเอกชนกับกฎหมายมหาชน ดิวกิต ไม่เห็นด้วยที่จะแบ่งกฎหมายเป็นกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน เพราะพื้นฐานความคิดของเขา คือทฤษฎีสมานฉันท์ของสังคม ซึ่งเห็นว่ากฎหมายทั้งปวงจะต้องมุ่งสมานฉันท์ของสังคมทั้งสิ้น จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องแบ่งแยกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของเอกชน เรื่องนี้เป็นเรื่องของมหาชน เพราะกฎหมายทั้งปวงล้วนแล้วแต่จะต้องตอบสนองเป้าหมายของสังคมทั้งสิ้น นอกจากนี้ ดิวกี้ ยังเน้นเรื่องเกี่ยวกับความสำคัญของ”หน้าที่” (Duty) มากกว่าเรื่องของ “สิทธิ” (Rights) กฎหมายในสายตาของ ดิวกิต จึงเป็นเรื่องระบบแห่งหน้าที่ ไม่ใช่ระบบ “สิทธิ” ซึ่งประเด็นนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงความคิดในเชิงสังคมวิทยาอย่างชัดเจนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ “หน้าที่” อย่างมาก ในขณะสิทธิธรรมชาติ (Natural Rights) เป็นเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นมาเท่านั้นไม่มีจริง
ดิวกิต มองจากสิ่งที่เป็นความจริงเกี่ยวกับการก่อตัวขึ้นมาของสังคมจะไม่มีสิทธิโดยธรรมชาติ แต่มี
สิทธิที่เป็นความจริงในการดำรงอยู่ของสังคม คือ มนุษย์มีหน้าที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะเห็นได้ว่าเรื่องของการให้ความสำคัญ หน้าที่ นั้นเป็นการสะท้อนความคิดแบบสังคมนิยมค่อนข้างมาก ส่วนเรื่องสิทธิหรือเรื่องเสรีภาพ (Liberty) นั้นการจะยอมรับกันก็คงจะกล่าวได้ว่าเป็นเพียงผลลัพธ์ของหน้าที่ในการพัฒนาปัจเจกภาพ (Individuality) ของมนุษย์ให้สมบูรณ์ เพื่อที่จะนำไปสู่ความร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกันหน้าที่ในการพัฒนาความเป็นที่สมบูรณ์ จะต้องมีเป้าหมายเพื่อการร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ก็เพื่อให้มนุษย์เรามีโอกาสในการพัฒนาความเป็นคนมากขึ้น เพื่อให้การพัฒนาความเป็นคนสมบูรณ์มากขึ้น อันเป็นพื้นฐานให้มนุษย์เรามีจิตใจโอบออ้มอารีมีจิตใจที่ช่วยเหลือมนุษย์ซึ่งกันและกันมากขึ้นต่อไป
ข้อสังเกต แนวคิดของ ดิวกิต นับว่าเป็นเรื่องประโยชน์ของสังคมอย่างเดียว จนแทบไม่มีที่ว่างของปัจเจกชนหลงเหลืออยู่ ดังจะเห็นได้จากแนวคิดที่ปฏิเสธ เรื่องสิทธิปัจเจกชน รวมทั้งปฏิเสธความแตกต่างกฎหมายเอกชนกับกฎหมายมหาชน การใช้สิทธิทางแพ่งหรือทางทรัพย์สิน ก็ต้องอยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ของการปกป้องผลประโยชน์ของสังคมหาใช่เป็นเรื่องส่วนตัว
1.2 กลุ่มที่มีแนวความคิดโอนเอียงมาทางอนุรักษ์นิยมเสรีนิยม
รูดอร์ฟ ฟอน เยียริ่ง (Rudolf Von Jhering :1818-1892) เยียริ่ง เขียนหนังสือเรื่อง“กฎหมายในฐานะเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมาย” (Law as a Means to an End) ในปี ค.ศ. 1887งานเขียนชิ้นนี้เป็นการเน้นให้เห็นความชัดเจนถึงการมองธรรมชาติของกฎหมายในแง่เป็นเครื่องมือ เพื่อ บรรลุเป้าหมายทางสังคมซึ่งเป้าหมายทางสังคมในแง่นี้เป็นเป้าหมายทางสังคมแบบอรรถประโยชน์เชิง สังคม กล่าวคือ ในเรื่องประโยชน์สุขของสังคมกฎหมายจะต้องบัญญัติใช้เพื่อบังคับให้เกิดประโยชน์สุขแก่คนในสังคม ซึ่งเรียกร้องให้ผนึกรวมแนวความคิดทางกฎหมายเข้ากับความเป็นจริงทางสังคมและเน้นบทบาทของ กฎ หมายเพื่อประโยชน์ของสังคมอย่างจริงจัง หรือเรียกว่า วัตถุประสงค์ในกฎหมาย
วัตถุประสงค์แห่งกฎหมาย เป็นแกนทางความคิดสำคัญทางปรัชญาของ เยียริ่ง วางอยู่ที่แนวความคิดเรื่อง “วัตถุประสงค์” (Purpose) ซึ่ง เยียริ่ง อธิบายว่าวัตถุประสงค์นี้ ถ้ามองเทียบกับสิ่งอื่นไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต วัตถุประสงค์นั้นเป็นเสมือนกฎเกณฑ์สากลที่อยู่เบื้องหลังการดำรงอยู่ของสิ่งต่างๆ วัตถุประสงค์จึงเป็นตัวกำหนดหรือตัวที่อยู่เบื้องหลังความเป็นจริงของสิ่งต่าง ๆ
เมื่อเอาแนวคิดดังกล่าวข้างต้นมาโยงกับกฎหมาย กฎหมายจึงเป็นผลผลิตของวัตถุประสงค์เป็นสิ่งที่เกิดจากเป้าหมาย โดยการวางเป้าหมายหรือวางวัตถุประสงค์ขึ้นมา เมื่อสร้างวัตถุประสงค์ขึ้นมาแล้ว กฎหมายก็จะตามมา กลายเป็นเครื่องมือเพื่อที่จะทำให้เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์นั้นได้มีโอกาสเป็นจริงขึ้นมา ในการมองเป้าหมายของกฎหมายนั้น เป้าหมายจะต้องเป็นไปเพื่ออรรถประโยชน์ของสังคมหรือเพื่อประโยชน์สุขของสังคมต่าง ๆ แต่ว่าในการที่จะก้าวไปถึงจุดนั้นเราต้องยอมรับว่าในความเป็นจริง ข้อเท็จจริงของสังคมจะเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง
ความขัดแย้งที่สำคัญในสังคม เยียริ่ง มองว่ามี 3 ประเภท คือ
1. ผลประโยชน์ของปัจเจกชน
2. ผลประโยชน์ของรัฐ
3. ผลประโยชน์ของสังคม
ดังนั้นบทบาทของนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาจึงอยู่ที่การจัดองค์ประกอบหรือการจัดความสมดุลของผลประโยชน์ทั้ง 3 ประเภท ให้อยู่ร่วมกันได้ ไม่ให้มีการเหลื่อมล้ำหรือมีการเอารัดเอาเปรียบมากเกินไป ซึ่งขบวนการในการสร้างความสมดุลของผลประโยชน์ที่แตกต่างกันนั้นเป็นเรื่อง“อรรถประโยชน์เชิงสังคม” คือ บรรลุสิ่งที่เป็นประโยชน์ของสังคมมนุษย์ที่จะอยู่ร่วมกันได้
การที่จะทำให้ผลประโยชน์ในเชิงสังคมมีความกลมกลืนกันได้นั้น การใช้กฎหมายเป็นสิ่งที่จำเป็น และต้องรู้จักใช้ตลอดถึงเข้าใจถึงสิ่งที่เป็นหลักในการออกกฎหมาย เพื่อนำไปสู่การค้นพบหรือสร้างสิ่งที่เป็นจุดสมดุลของผลประโยชน์ที่ขัดกัน
เมื่อมองบทบาทของกฎหมายในแง่ของการสร้างความสมดุลของผลประโยชน์ของสังคมของ เยียริ่งจะทำให้เราสามารถมองแนวคิดของ เยียริ่ง ที่ปฏิเสธความคิดของสำนักกฎหมายประวัติศาสตร์ ที่ว่ากฎหมายเกิดขึ้นโดยไม่รู้สึกตัวและเกิดขึ้นโดยปราศจากความตั้งใจ โดย เยียริ่ง ยืนยันว่ากฎหมายคือการต่อสู้ในฐานะเป็นสิ่งเคลื่อนไหวทางประวัติศาสตร์กฎหมายไม่ใช่สิ่งที่เจริญเติบโตมาแต่ก่อนแต่กฎหมายได้เกิดขึ้นเพราะการต่อสู้ด้วยความยากลำบากท่ามกลางวิกฤติการณ์ของมนุษย์ ท่ามกลางเป้าหมายและผลประโยชน์ของคน ส่วนรวมมิใช่ของปัจเจกชนคนใดคนหนึ่ง ซึ่งเป็นการโต้แย้งสำนักกฎหมายประวัติศาสตร์
นอกเหนือจากท่าทีปฏิปักษ์ต่อสำนักกฎหมายประวัติศาสตร์ เยียริ่ง เน้นบทบาททางสังคมโดยพิจารณาถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชีวิตและสังคมควบคู่กันไปเขาจึงปฏิเสธการวิเคราะห์ธรรมชาติกฎหมายในเชิงนามธรรมหรือเชิงสถิตย์ แบบพวกนักกฎหมายธรรมชาติด้วย
จากการที่ เยียริ่ง เน้นความสำคัญของผลประโยชน์สังคมดังกล่าว จำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เป็นกลไกที่จะต้องปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา กฎหมายไม่ใช่เป็นเรื่องที่เป็น กฎธรรมชาติตายตัว จะต้องมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้เพื่อให้ผลประโยชน์ของคนในสังคมที่มีความแตกต่างกันอยู่ร่วมกันได้โดยปกติสุข ซึ่งเป็นการโต้แย้งสำนักกฎหมายธรรมชาติ
จากแนวความคิดนี้จึงได้มีความพยายามหรือความเคลื่อนไหวในการบัญญัติกฎหมายในเชิงสังคมทั้งหลายเช่น กฎหมายที่มีลักษณะมุ่งแก้ปัญหาความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งเป็นแนวคิดร่วมกับสำนักกฎหมายปฏิฐานนิยมในแง่ที่ว่า กฎหมายออกโดยมนุษย์เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันโดยปกติสุข
ตัวอย่างเช่น กฎหมายแรงงาน ประกันสังคม กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายห้ามการผูกขาดการค้ากำไรเกินควร เป็นต้น ซึ่งกฎหมายในลักษณะที่ได้อธิบายดังกล่าวนั้น เยียริ่ง เชื่อว่าจะทำหน้าที่ควบคุมระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมให้ดำเนินไปด้วยดี ไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบจนเกินไป ความคิดด้านการปฏิรูปกฎหมายดังกล่าวยังกินความถึงการจำกัดสิทธิ ในการใช้ทรัพย์สินของเอกชนหรือการยอมให้มีการยึดหรือเวนคืนทรัพย์สินบางอย่าง ซึ่งถือเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาการสานผลประโยชน์ระหว่างสังคมกับเอกชนทางหนึ่ง
รอสโค พาวด์ (Roscoe Pound :1870 – 1964)นักนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นศาสตราจารย์ทางกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ซึ่งพัฒนาทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาให้มีรายละเอียดในทางปฏิบัติและทำให้ทฤษฎีนี้แพร่หลายมาก ขึ้นในดินแดนต่าง ๆ คือ ทฤษฎีวิศวกรรมสังคม (Social Engineering Theory)
ทฤษฎีวิศวกรรมสังคม อันเป็นทฤษฎีที่เน้นภารกิจของนักกฎหมายในการจัดระบบผลประโยชน์ต่าง ๆให้สมดุลโดยกลไกทางกฎหมายคล้ายกับการเป็นวิศวกรรมสังคมที่มุ่งสร้างโครงสร้างสังคมใหม่อันมีประสิทธิภาพในการตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างสูงสุดโดยให้เกิดการร้าวฉานหรือสูญเสียน้อยที่ สุด
ทฤษฎีวิศวกรรมสังคมของ พาวด์ มีการกล่าวถึงปัญหาเกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ความหมายของผลประโยชน์ต่าง ๆ ประเภทของผลประโยชน์ รายละเอียดของผลประโยชน์ ซึ่งในประเด็นเหล่านี้ พาวด์ กล่าวว่าสิ่งที่ เยียริ่ง ได้อธิบายไว้ โดย พาวด์ ได้เอาทฤษฎีของ เยียริ่ง มาอธิบายให้มีความละเอียดพิสดารมากขึ้น พาวด์ ได้ให้ความหมายของเรื่องผลประโยชน์ว่า “ผลประโยชน์นั้นเป็นเรื่องของข้อเรียกร้อง ความต้องการหรือความปรารถนาที่มนุษย์ต่างยืนยันเพื่อให้ได้มาอย่างแท้จริง เป็นภารกิจที่กฎหมายต้องกระทำเพื่อสิ่งเหล่านี้ เพื่อที่จะให้ผลประโยชน์ดังกล่าวปรากฏเป็นจริง ไม่มีความขัดแย้งกัน” พาวด์ ได้แยกผลประโยชน์ ออกเป็น 3 ประเภท คล้ายกับ เยียริ่ง กล่าวคือ
1. ผลประโยชน์ของปัจเจกชน (Individual interests) คือ ข้อเรียกร้อง ความต้องการ
ความปรารถนาและความคาดหมายในการดำรงชีวิตของปัจเจกชน (Individual Life) ซึ่งเกี่ยวข้องกับ
1) ผลประโยชน์ด้านบุคลิกภาพส่วนตัว (Interest in personality) หมายถึง
ผลประโยชน์ในร่างกาย เสรีภาพแห่งเจตจำนง เกียรติยศและชื่อเสียง ความมีอิสระส่วนตัวและการเชื่อถือหรือนับถือสิ่งต่าง ๆ
2) ความสัมพันธ์ทางครอบครัว (Domestic relation) อันเกี่ยวข้องกับบิดา มารดา สามี ภรรยาและบุตร
3) ผลประโยชน์ในเรื่องอันเป็นแก่นสาระสำคัญ (Interest of substance) ซึ่งรวมถึงการมีทรัพย์สินส่วนตัว (Private property) เสรีภาพในการประกอบอุตสาหกรรมหรือในการทำสัญญาการได้ประโยชน์ตามคำมั่นสัญญา เสรีภาพในการสมาคมและการจ้างแรงงานอันต่อเนื่อง
2. ผลประโยชน์ของมหาชน (Public interest) คือ ข้อเรียกร้อง, ความต้องการหรือ
ความปรารถนาที่ปัจเจกชนยึดมั่นอันเกี่ยวพันหรือเกิดจากจุดยืนในการดำรงชีวิตที่เกี่ยวกับการเมือง (Political Life) ได้แก่ ผลประโยชน์ของรัฐในฐานะที่เป็นนิติบุคคลที่จะครอบครองหรือเวนคืนทรัพย์สิน รวมทั้งผลประโยชน์ของรัฐในฐานะเป็นผู้พิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ของสังคม
3. ผลประโยชน์ของสังคม (Social Interest) คือ ข้อเรียกร้อง, ความต้องการหรือ
ความปรารถนาที่พิจารณาจากแง่ความคาดหมายในการดำรงชีวิตทางสังคม (Social Life) อันรวมถึง
1) ผลประโยชน์ของสังคมในแง่ความปลอดภัยทั่วไป
2) ผลประโยชน์ของสังคมในแง่ความปลอดภัยของสถาบันทางสังคมต่าง ๆ เช่น
สถาบันทางศาสนา สถาบันทางเศรษฐกิจ สถาบันทางการเมือง หรือสถาบันทางครอบครัว
3) ผลประโยชน์ของสังคมในแง่ศีลธรรมทั่วไปซึ่งครอบคลุมถึงกฎหมายต่าง ๆอันเกี่ยวกับการควบคุมการค้าประเวณี การค้าสุราหรือการพนัน
4) ผลประโยชน์ในการสงวนรักษาทรัพย์ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติและ
ทรัพยากรมนุษย์
5) ผลประโยชน์ของสังคมด้านความก้าวหน้าทั่วไปซึ่งหมายถึง
(1) ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ อันหมายความรวมถึงเสรีภาพในการใช้
และจำหน่ายทรัพย์สิน เสรีภาพในทางการค้า การอุตสาหกรรม การส่งเสริม การประดิษฐ์ด้วยการรับรองสิทธิบัตร
(2).ความก้าวหน้าทางการเมืองอันแสดงออกที่การยอมรับนับถือ ต่อ
เสรีภาพในการพูด การแสดงออกความคิดเห็นและสมาคม
(3)ความก้าวหน้าทางวัฒนธรรม ซึ่งปรากฏจากการมีเสรีภาพทางศาสตร์
ต่าง ๆ วรรณกรรม ศิลปะ สุนทรียศาสตร์ การส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้
ข้อสังเกต ผลประโยชน์ทั้ง 3 ประการในทฤษฎีของ พาวด์ จะไม่มีการจัดน้ำหนักประโยชน์ใดให้มีน้ำหนักมากกว่าผลประโยชน์อื่น ถึงแม้โดยหลักการเราจะมองว่า สังคมนั้นมีความสำคัญอย่างมากแต่ในทฤษฎีวิศวกรรมสังคม การมองว่าในกระบวนการออกกฎหมายหรือกระบวนใช้กฎหมายจะต้องมีการนำเอาประโยชน์ต่าง ๆ เข้ามา ทั้งผลประโยชน์ของปัจเจกชน ทั้งผลประโยชน์มหาชน ผลประโยชน์ของสังคมหากมีสถานะที่ต้องมีการตรวจสอบความขัดแย้งในการจัดความสมดุลของผลประโยชน์ พาวด์ มองว่าผลประโยชน์ทั้งหลายต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีน้ำหนักเป็นกลาง
ข้อสังเกต การแบ่งประเภทของผลประโยชน์ในสังคมนั้น มีนักปรัชญากฎหมายบางคนที่มีความคิดแตกต่างจาก พาวด์ ในการแบ่งประเภทดังกล่าวอาทิ เช่น ศาสตราจารย์ จูเลียส สโตน (Julius Stone) แห่งประเทศออสเตรเลียได้แบ่งผลประโยชน์ออกเป็น 2 ประเภท คือ ผลประโยชน์ของปัจเจกชน กับผลประโยชน์ของสังคมโดยตัดผลประโยชน์มหาชนออกไป
ศาสตราจารย์จอร์จ เพตัน (Jeorge Paton) ได้แยกผลประโยชน์ออกเป็น 2ประเภท คือ ผลประโยชน์ของสังคมและผลประโยชน์ของส่วนตัว
การคาดผลประโยชน์ด้วยวิธีการต่าง ๆ ในการกระทำวิศวกรรมสังคมที่กล่าวมาของ พาวด์ นับว่าเป็นหัวใจสำคัญยิ่งในทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา ซึ่ง พาวด์ ถือว่าเป็นก้าวย่างใหม่ของการศึกษากฎหมายและเป็นเสมือนการก้าวสู่จุดสุดยอดของนิติปรัชญานับแต่อดีตกาลมา รวมทั้งเป็นการขยายบทบาทของนักนิติศาสตร์หรือนักทฤษฎีให้ลงมาสัมผัสกับโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้นแทนที่จะหมกมุ่นกับการถกเถียงเชิงนามธรรมในปรัชญากฎหมายเท่านั้น
พาวด์ได้ประกาศยืนยันเกี่ยวกับภาระสำคัญของนักนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา ไว้ 6 ประการ คือ
1.ศึกษาถึงผลลัพธ์ที่เกิดจริงของสถาบันทางกฎหมายและทฤษฎีกฎหมาย
2.ศึกษาเชิงสังคมวิทยาในเรื่องการตระเตรียมการนิติบัญญัติ โดยเฉพาะในเรื่องผลของการนิติ
บัญญัติเชิงเปรียบเทียบ
3.ศึกษาถึงเครื่องมือหรือกลไกที่จะทำให้กฎเกณฑ์ทางกฎหมายมีประสิทธิภาพโดยถือว่า “ความ
มีชีวิตของกฎหมายปรากฏอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย” (The life of law is in it enforcement)
4.ศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายเชิงสังคมวิทยา ด้วยการตรวจพิจารณาดูว่าทฤษฎีกฎหมายต่างๆ
ได้ส่งผลประการใดบ้างในอดีต
5.สนับสนุนให้มีการตัดสินคดีบุคคลอย่างมีเหตุผลและยุติธรรมซึ่งมักอ้างเรื่อง “ความแน่นอน”
(Certainty) ขึ้นแทนที่มากขึ้น
6.พยายามทำให้การบรรลุจุดมุ่งหมายของกฎหมายมีผลมากขึ้น
2.บทวิเคราะห์วิจารณ์ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา
บทวิเคราะห์วิจารณ์ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาผู้เขียนขอวิเคราะห์วิจารณ์ออก 2 ประเด็น คือ คุณูปการของทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยากับข้อสรุปภาพรวมของทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา ดังนี้
2.1 คุณูปการของทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา
จากการเน้นบทบาทของกฎหมายในการสร้างความสมดุล ซึ่งผลประโยชน์ต่างๆในสังคมมิให้เกิดมีการเอารัดเอาเปรียบกันในหมู่สมาชิกของสังคม ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาจึงอาจถือให้เป็นทฤษฎีพื้นฐานของระบบรัฐสังคมหรือรัฐที่เน้นความรับผิด ชอบของรัฐบาลในการจัดสวัสดิการต่างๆให้แก่ประชาชน รวมทั้งการปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ ในแง่นี้ทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาจึงส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อทัศนคติที่มีต่อระบบกฎหมาย สร้างแนวความคิดที่ส่งเสริมให้ระบบกฎหมายเน้นประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ เน้นบทบาทของกฎหมายในการควบคุมสังคมที่สำคัญ คือ เป็นฐานความคิดหลักกฎหมายที่ผลักดันให้มีการตรากฎหมายใหม่ๆ ที่มุ่งควบคุมระเบียบของสังคมให้เกิดความสมดุล ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม เช่น การตรากฎหมายป้องกันการผูกขาด ต่อต้านการทุ่มทุนสินค้าสู่ตลาด จำกัดสิทธิ เสรีภาพในการใช้ทรัพย์สินหรือในการทำสัญญาและการตรากฎหมายการควบคุมเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ ทั้งในด้านการคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภค ควบคุมสภาพแวดล้อมผังเมือง กฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายประกันสังคมต่างๆเป็นต้น
2.2.ข้อสรุปภาพรวมทฤษฎีนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยา
โดยภาพรวมจะเห็นว่า นักนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาเป็นนักกฎหมายที่มีความมุ่งมั่นที่จะใช้หรือมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้กฎหมายเป็น กลไกในการแก้ปัญหาสังคมอย่างจริงจัง โดยเขามีหน้าที่ที่จะต้องค้นหาหรือมีหน้าที่ที่จะต้องศึกษาความเป็นจริง ตลอดจนอุปสรรคต่าง ๆ ของกฎหมายที่ปรากฏในสังคม พร้อมกันนั้นอุดมคติเกี่ยวกับเรื่องเหตุผลหรือความเป็นธรรม
แนวคิดนี้จึงเป็นแนวคิดที่เน้นเรื่องความเป็นธรรมในตัวเอง ในขณะเดียวกันก็พยายามเน้นเรื่องการต้องศึกษาความเป็นจริงกับกฎหมายที่ปรากฏอุปสรรคต่าง ๆ เป็นต้น
แนวคิดนี้จะเรียกว่าเป็นนิติศาสตร์เชิงเสรีนิยมก็ได้ เพราะเน้นแนวความคิดของที่ยังมองโลกในแง่บวก และมีความหวังที่จะแก้ปัญหาสังคมโดยกฎหมาย โดยเฉพาะแนวคิดของ พาวด์ ที่ถือว่าการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาสังคมหรือเป็นเครื่องมือในการสร้างสังคมนั้น เบื้องหลังความคิดของ พาวด์ ยังมีสิ่งที่เป็นคุณค่านิยมพื้นฐานแฝงอยู่ด้วย ซึ่งอาจจะเรียกว่า “หลักมูลฐานสำหรับกฎหมาย” (Jural Postulate / Postutale for Law)
สิ่งที่เป็นหลักมูลฐานสำหรับกฎหมาย เป็นหลักในการออกฎหมายเพื่อบรรลุสิ่งที่เป็นเป้าหมายในการทำวิศวกรรมสังคม ประกอบด้วยหลักสำคัญนับแต่หลักการไม่รุกรานก้าวร้าวโดยเจตนากับบุคคลอื่น ๆ การปกป้องควบคุมผลประโยชน์ในสิ่งที่บุคคลครอบครองภายใต้ระเบียบทางเศรษฐกิจและสังคมดำรงอยู่ การปฏิบัติต่อกันด้วยความซื่อสัตย์สุจริต การปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างระมัดระวังไม่ให้เกิดความเสียหายและการควบคุมการกระทำที่เป็นอันตรายต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการให้แก้ไขชดใช้ความเสียหายอันเกิดจากอันตรายดังกล่าว
เนื่องจากหลักการดังกล่าวแล้ว พาวด์ ได้ขยายหลักการเพิ่มขึ้น ซึ่งมีลักษณะเป็นหลักการในเชิงสังคม หลักการในเชิงเพื่อความเสมอภาคเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมมากขึ้น เช่น หลักเกี่ยวกับความมั่นคง
ในอาชีพ การงาน ซึ่งเป็นหลักที่จะนำไปสู่การออกกฎหมายสนับสนุนให้มีการช่วยเหลือค่าครองชีพ สำหรับกรณีคนตกงาน หลักความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม หลักเกี่ยวกับการประกันสังคม
แบบฝึกหัดท้ายบท
1.จงอธิบายนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาและให้วิจารณ์ว่ามีอิทธิพลต่อการปฏิรูปสังคมให้มีการสานผลประโยชน์ต่างๆได้อย่างสมดุลหรือให้มีความสามานฉันท์กันอย่างแท้จริงเพียงใด
2.จงวิเคราะห์แนวคิดนิติศาสตร์เชิงสังคมวิทยาแบบสามานฉันท์(เน้นไปทางสังคมนิยม)กับแนวคิดแบบเสรีอนุรักษ์นิยม
หนังสือและเอกสารอ่านเพิ่มเติม
หนังสือภาษาไทย
จรัญ โฆษณานันท์ “นิติปรัชญา” กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง,2538
ปรีดี เกษมทรัพย์ “นิติปรัชญาภาคหนึ่ง : บทนำทางทฤษฎี” กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2526
รองพล เจริญพันธ์ “นิติปรัชญา” กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยรามคำแหง,2526
หนังสือต่างประเทศ
Roscoe Pound “The scope and Purpose of Socielogical Jurisprudence” 25, (Havard Law
Review,1912)
Roscoe Pound “Introduction to American Law” 1991
Search