“การปฏิวัติรัฐประหาร” จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่?! : เราควรแก้ไข รธน. ต่อต้านการปฏิวัติรัฐประหารหรือไม่”
สิทธิกร ศักดิ์แสง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
ผมได้อ่านบทความเรื่อง “การปฏิวัติรัฐประหาร” จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่?! “ เขียนโดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ในผู้จัดการออนไลน์ :เผยแพร่: 4 ก.พ. 2563
พ.ต.อ. ทวี ได้อธิบายว่า การ “การพิทักษ์รัฐธรรมนูญและการต่อต้านการปฏิวัติรัฐประหาร” จะทำได้หรือไม่นั้น เมื่อตรวจสอบจากรัฐธรรมนูญทั้ง 20 ฉบับแล้วพบว่า เรื่องการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (รธน.) มีบัญญัติไว้ชัดเจนใน รธน. 2517 มาตรา 4 ว่า...
“การนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้”
แต่ รธน. 2517 ใช้บังคับได้เป็นระยะเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น ก็เกิดปฏิวัติรัฐประหารในปี 2519
ส่วนการ ‘ต่อต้านการปฏิวัติรัฐประหาร’ มีขึ้นใน รธน. 2540 เป็นฉบับแรก ที่บัญญัติเรื่อง “ต่อต้านโดยสันติวิธี” ตามมาตรา 65 ไว้ คือ
“บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี ซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้”
คำว่า “ต่อต้านโดยสันติวิธี” ตาม รธน. 2540 หมายถึง การชุมนุมเพื่อต่อต้าน ยับยั้ง สกัดกั้น คัดค้าน หรือแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการปฏิบัติรัฐประหาร เพราะเห็นปรปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่ง รธน. 2540 ใช้บังคับได้เป็นระยะเวลา 9 ปีเศษก็ถูกการรัฐประหารในปี 2549
ต่อมามี รธน. 2550 ก็มีบทบัญญัติ (ในมาตรา 69) ที่มีข้อความ “ต่อต้านโดยสันติวิธี” เหมือนกับ รธน. 2540 ก็ตาม แต่ รธน. 2550 มีที่มาและปรัชญาแตกต่างกันสิ้นเชิง เพราะเป็นผลพวงมาจากการรัฐประหารปี 2549 คำว่า “ต่อต้านโดยสันติวิธี” คือ การต่อต้านบุคคลหรือพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่สุจริต หรือการซื้อเสียงเป็นหลัก
ซึ่งต่างจาก รธน. 2540 ที่ต่อต้านภัยคุกคามจากการปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งอายุใช้งาน รธน. 2550 ใช้บังคับได้เป็นระยะเวลา 7 ปีเศษก็ถูกรัฐประหารในปี 2557
ส่วนใน รธน. 2560 ฉบับปัจจุบัน ไม่มีบัญญัติเรื่องการ “ต่อต้านโดยสันติวิธี” เหมือน รธน. 2540 มีเพียง มาตรา 49 ว่า…
“บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้”
โดย พ.ต.อ. ทวี ได้แสดงความคิดเห็นว่า รธน. 2560 เป็นฉบับที่มองไม่เห็นอันตรายจากการปฏิวัติรัฐประหาร และไม่ไว้วางใจประชาชน จ้องเอาผิดกับบุคคลที่เป็นผู้แทนราษฎรและพรรคการเมือง เพื่อสืบทอดอำนาจของ “นักปฏิวัติรัฐประหาร” นั้นเอง
ท้ายสุด พ.ต.อ. ทวี ได้ตั้งคำว่า “จะมีมาตรการป้องกันการปฏิวัติรัฐประหารได้อย่างไร?”
และ พ.ต.อ.ทวี ได้คำถามว่า “คงเป็นคำถามยอดฮิตที่ไม่มีคำตอบจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญได้ เพราะที่ผ่านมา “รัฐธรรมนูญเป็นเพียงบันทึกการปกครองประเทศ” เท่านั้น ไม่ใช่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศตามที่เข้าใจกันแต่อย่างใด?!”
จากบทความที่ พ.ต.อ.ทวี ได้เขียนมานี้ ผมคิดว่า เป็นบทความที่เขียนออกมาได้น่ารับฟังเป็นอย่างยิ่ง เป็นบทความที่ให้ข้อคิด ย้ำเตือนว่า “การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากศัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ” ของประเทศไทย ควรเป็นเช่นไร ตามที่สากลยอมรับกันตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ
เราควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ นำหลัก
การต่อต้านการปฏิวัติรัฐประหาร ของมีขึ้นรธน. 2540 มาตรา 65 มาตรา เรื่อง “ต่อต้านโดยสันติวิธี” ในตามมาตราคือ “บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี ซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้” มาไว้ในบทบัญญัติ รธน.60 หรือไม่ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิต่อต้านการปฏิวัติ รัฐประหารได้ในการล้มล้างรัฐธรรมนูญ
ซึ่งในประเด็นนี้ผมไม่เห็นใครพูดถึงมันเลย คงแต่พูดถึงที่มาของ สว.ที่มาจาก คสช. พูดถึงปัญหาการใช้อำนาจของนักการเมือง เท่านั้น ไม่เคยพูดถึงสิทธิเสรีภาพ ของประชาชนในการต่อต้านสันติวิธี ที่เคยมีในบทบัญญัติ รธน. 40 แต่อย่างใดเลย
Search